สุขใดไฉนเท่า...จากมือสู่ใจ
สุขสัมผัส ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราช
17 กันยายน 2559 ในช่วงเช้าคนตาบอดและอาสาสมัครกว่า 30 คน ได้เช้าชมอาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) แสดงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ปากคลองบางกอกน้อย-วังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงปัจจุบัน ประวัติของศิริราชการแพทย์ไทย การสร้างทางรถไฟสายใต้ และวิถีชีวิตชุมชนบางกอกน้อย และต่อด้วยช่วงบ่ายเข้าชมพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน, พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา และพิพิธภัณฑ์สัมผัส เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
กิจกรรมวันนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ใจดีจากผู้บริหารคณะแพทย์ศิริราช สำหรับยานพาหนะรับส่งผู้ร่วมกิจกรรม ขนมและเครื่องดื่มจากหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช และอาหารกลางวันอร่อยๆ จากเอ็มเคสุกี้ และขอขอบคุณกับการต้อนรับ ดูแล และคอยบอกเล่าข้อมูลความรู้ต่างๆเป็นอย่างดี รวมถึงการแนะนำการใช้งานอุปกรณ์ให้เสียงบรรยายเพื่อการชมพิพิธภัณฑ์ที่เรียกว่า Pickup จากภัณฑารักษ์สาวคนเก่ง นางสาวเกสรี ยอดกันสี (เกส) และนักวิชาการศึกษาหนุ่มใจดี นายชัยยศ เจริญสันติพงศ์ (อั๋น)
สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการฟังและสัมผัสในพิพิธภัณฑ์ศิริราชในครั้งนี้ คนตาบอดได้รับประสบการณ์ที่น่าสนใจ แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ มากมาย เรามาลองชมภาพบรรยากาศ ฟังความคิดเห็นและความประทับใจของผู้ร่วมงานในครั้งนี้กันคะ
“วันนี้ได้รับความรู้ ด้านการแพทย์ พฤกษศาสตร์ต่างๆมากมาย และมีสิ่งที่ผมอยากให้ช่วยปรับปรุง คือ คำอธิบายที่เป็นอักษรเบรลล์ บริเวณห้องผ่าตัด มีการติดกลับหัว ทำให้อ่านไม่ได้ หากเป็นอักษรได้ติดสลับก็น่าจะพออ่านได้ในคนปกติทั่วไป และความซ้ำซ้อนของข้อมูลเรื่องสมุนไพร เกี่ยวกับหม้อดินและไม้ขัด พิพิธภัณฑ์ที่นี่ดีนะ ผมสามารถสัมผัสได้ แต่ก็ไม่ทุกอย่าง ซึ่งผมอยากเข้าถึงและสัมผัสสมอง หัวกระโหลก และอีกหลายอย่างที่อยู่ในตู้จัดแสดง งานนี้จัดได้ดีมากครับ ผมและเพื่อนๆได้รับความรู้และขอบคุณพี่ๆอาสาสมัคร ที่นำชม อธิบาย ไม่เช่นนั้นการรับชมในครั้งนี้จะไม่ราบรื่นเท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ” นายสุนทร สุขชา ประธานเยาวชนคนตาบอด
“ขอบคุณพิพิธภัณฑ์ศิริราชและขอบคุณพี่ๆ อาสาสมัครที่สละเวลามาดูแลและอธิบายสิ่งต่างๆเพิ่มเติม ทำให้วันนี้ได้ความรู้มากมายคะ” กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล (น้องไอซ์)
“ผมเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย พึ่งจะมาเป็นอาสาสมัครให้การช่วยเหลือคนตาบอดเป็นครั้งแรก จึงใช้ทักษะในการพูดของผมในการอธิบายสิ่งต่างๆ ให้คุณสมศักดิ์ ได้เข้าใจเพิ่มเติม มีจุดนึงที่ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร คือจุดวัดสายตาประกอบแว่น ผมจึงให้เขาคลำบริเวณหน้าของผมเองครับ งานในวันนี้ โดยภาพรวมแล้วดีครับ ประทับใจมากครับ หากมีโอกาสจะมาอีกครั้ง” นายชัยฤทธิ์ พงศ์กล่ำ อาสาสมัคร
“พิพิธภัณฑ์พิมุขสถาน ตรงห้องผ่าตัด บางจุดที่ต้องกดเพื่อฟังคำอธิบายจะอยู่ในระดับสูง หากอยู่ในระดับสายตาก็จะสะดวกคะ” นางสาวอรพิน บุญเกตุวัฒนากุล อาสาสมัครและเป็นพี่สาวของน้องไอซ์ (ตาบอด)
(คลิกชมภาพขนาดใหญ่แต่ละภาพข้างบนได้ที่นี่)