"หนอนไม่มีตา แต่ว่าชอบอ่านหนังสือ"
บทความนี้เขียนเล่าถึงโครงการดีๆ ของสาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่จะมาทำโครงการในเมืองไทยค่ะ เล่าโดยคุณทรงกลด บางยี่ขัน ค่ะ ขอขอบคุณคุณทรงกลด ที่อนุญาตให้เอามาเผยแพร่ต่อได้ค่ะ
หนอนไม่มีตา แต่ว่าชอบอ่านหนังสือ
ผมสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมเราถึงเปรียบเปรยคนรักการอ่านว่าเป็น หนอนหนังสือ ซึ่งแปลมาจากคำว่า Bookworm หนอนเป็นสัตว์ ที่ไม่มีตา มันจึงไม่น่าถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้รักการอ่าน อีกเรื่องที่ผมสงสัยพอกันก็คือ เรามีคำที่เอาไว้ใช้เรียกภาพที่มองจากมุมสูงว่า Bird’s-Eye view และเราก็ยังมี คำว่า Worm’s-Eye view เอาไว้เรียกภาพที่ มองจากมุมต่ำเงยขึ้นด้านบน ในเมื่อหนอนมันมองไม่เห็น แล้วทำไมเราถึงเปรียบภาพในมุมนั้นว่าเหมือนมองผ่านสายตาหนอน เรื่องหลังผมยังข้องใจ ส่วนเรื่องแรกถึงยังไม่ได้คำตอบ แต่ผมก็หายสงสัยแล้ว
เพื่อนชาวญี่ปุ่นจัดแจงนัดให้ผมพบกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เพื่อนของผมบอกว่า ผมกับเธอควรได้คุยกัน หญิงสาววัย ยี่สิบกลางๆ คนนี้มีชื่อว่า Yoshimi Horiuchi หรือจะเรียก โย อย่างที่เพื่อนๆ ชาวไทยของเธอเรียกก็ได้
มาถึงโยก็เล่า เรื่องห้องสมุดที่ญี่ปุ่นให้ผมฟัง เธอว่าห้องสมุดหลายแห่งมีระบบที่เอื้อกับคนตาบอด คือมีหนังสืออักษรเบรลล์ให้อ่าน หรือไม่ก็มีไฟล์เสียงให้ฟัง ซึ่งไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไหร่ สิ่งที่เริ่มจะพิเศษขึ้นก็คือ นอกจากคนตาบอดแล้ว ห้องสมุดบางแห่งยังมีหนังสือที่รองรับคนพิการประเภทอื่นๆ ด้วย ซึ่งหลักๆ ก็คือ ผู้พิการทางสมอง แต่นั่นยังไม่น่าสนใจเท่าระบบห้องสมุดสำหรับคนที่เดินไม่ได้ เขามีบริการส่งหนังสือให้ถึงบ้าน
โยบอกว่าห้องสมุดที่ญี่ปุ่นไม่ได้รอให้คนเข้ามาอ่าน แต่ยังเอาตัวเองออกไปหาคนอ่านด้วย กลุ่มคนที่ไปหาก็คือผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย หรือคนที่ไม่สะดวกจะเดินทางมาที่ห้องสมุด เช่น คนพิการ คนท้อง แม่ที่ต้องเลี้ยงลูกอ่อนอยู่กับบ้าน คนแก่ รวมถึงคนต่างชาติรายได้น้อยที่เข้ามาขายแรงงานในญี่ปุ่น ซึ่งอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก หนังสือจะถูกส่งตรงไปยังบ้านของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับมีอาสาสมัครช่วยอ่านให้ฟัง ถ้าคนตาบอดอยากใช้บริการในห้องสมุดปกติก็นัดอาสาสมัครให้มาช่วยอ่านหนังสือให้ฟังได้
ผมสงสัยว่า ทำไมต้องอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟังแบบสดๆ ทีละคนด้วย บันทึกเสียงเก็บไว้เป็นไฟล์ไม่ดีกว่าหรือ โยเฉลยว่า หนังสือบางประเภทมีรูป กราฟ แผนที่ หรือตารางเยอะ สิ่งเหล่านี้ต้องการการอธิบายแบบตัวต่อตัวคนตาบอดถึงจะเข้าใจ เห็นวิธีคิดที่เอาใจใส่คนตาบอดแบบนี้ก็ชื่นใจ และชื่นชมคนทำ
พอโยเล่าเรื่องญี่ปุ่นจบ เธอก็เล่าต่อว่า เธอกำลังจะทำโครงการนี้ในประเทศไทย ชื่อ คาราวานหนอนหนังสือ ดำเนินการในนามองค์กรของเธอเองที่ชื่อ Always Reading Caravan (ARC) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีเป้าหมายว่า อยากให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ไปยังเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งพิการและไม่พิการ ในพื้นที่ชนบทของไทย
เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2549 ช่วงที่โยมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอมีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปดูงานในหลายหมู่บ้าน และได้คลุกคลีกับองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการทั่วประเทศ นั่นทำให้เธอพบว่า เด็กพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ อย่างเด็กชาย อายุ 15 ปีคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบ ถือเป็นหนึ่งในจำนวนนับพันที่ไม่สามารถเข้าถึงความบันเทิงอื่นได้นอกจากนอนดูโทรทัศน์บนเตียง ครอบครัวของเขาก็ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ เขาเลยไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีใครสอนอ่าน สอนเขียน และไม่มีใครอ่านหนังสือให้ฟัง เจ้าของปริญญาตรีครุศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่นคนนี้มองว่า ในพื้นที่ชนบท หนังสือเป็นสิ่งมีราคา และห้องสมุดเป็นสิ่งที่หายาก โทรทัศน์จึงเป็นแหล่งความบันเทิงหลักของชาวบ้าน เธอเลยอยากหาทางนำหนังสือเคลื่อนที่ไปให้ถึงคนเหล่านั้น
โยบอกว่า คนไทยเชื่อว่าการอ่านหนังสือคือการเรียน ทำให้คนไม่ค่อยอยากอ่าน เธอเลยอยาก เปลี่ยนให้เราหันมารู้สึกว่าการอ่านหนังสือคือการพักผ่อน เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง ถ้าโปรโมทว่า อ่านหนังสือแล้วสนุกมาก คงมีคนอยากอ่านหนังสือเยอะขึ้น
เธอรับสมัครทีมงานชาวไทยอีก 2 ชีวิต ขับรถบรรทุกหนังสือมุ่งหน้าไปยังโคราชซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย เธอเลือกหมู่ บ้านไกลโพ้นที่ไม่มีห้องสมุดมา 4 แห่ง แต่ละแห่ง คาราวานของเธอจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นที่ละ 2 สัปดาห์ โดยจะย้ายสถานที่ไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล สถานดูแลเด็กพิการ ศูนย์กลางชุมชน หรือตลาด พอครบกำหนดก็ขับรถไปยังหมู่บ้านถัดไป วนไปเช่นนี้ ใน 1 ปี ห้องสมุดเคลื่อนที่จะแวะไปแต่ละหมู่บ้าน 6 ครั้ง
ในรถของเธอ ซึ่งเปรียบเสมือนห้องสมุดเคลื่อนที่เต็มไปด้วยหนังสือปกติ หนังสือเบรลล์ ไฟล์เสียงของหนังสือ ของเล่นเกี่ยวกับการศึกษา รูปที่สามารถสัมผัสได้ และรูปจำลอง ต่างๆ ที่ช่วยให้คนตาบอดสัมผัสได้ว่าสถานที่ต่างๆ อย่างทัชมาฮาล หรือหอไอเฟลหน้าตาเป็นอย่างไร
โยบอกว่างานของเธอคือเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ พร้อมหนังสือ ไปที่ไหนก็จะสอนอาสาสมัครท้องถิ่นให้ลองบริหารจัดการห้องสมุดด้วยตัวเอง ถ้าทำได้แล้ว คาราวานของเธอก็จะไม่กลับมาอีก โดยจะเปลี่ยนไปบุกเบิกระบบห้องสมุดในหมู่บ้านอื่นๆ แทน ใครสนใจอยาก เป็นอาสาสมัครร่วมเดินทางหรืออยากบริจาคหนังสือติดต่อได้ที่ www.alwaysreadingcaravan.org โยบอกผมและ เขียนแนะนำตัวในเว็บไซต์แบบเดียวกันว่า เธอเป็นหนอนหนังสือจากญี่ปุ่นที่อยากจะทำโครงการชวนคนไทยอ่านหนังสือ ฟังแล้วก็ทึ่ง ไม่ใช่ทึ่งเพราะโครงการที่เธอทำมันแปลกประหลาดอย่างที่คาดเดาไม่ได้ แต่ทึ่งเพราะว่าโยตาบอด
ที่ผมเล่ามาทั้งหมด เป็นโครงการที่เกิดจากผู้หญิงตาบอดชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่า เป็นเกิดจากหนอนหนังสือตาบอดชาวญี่ปุ่น จากที่เคย สงสัยว่า ทำไมเราถึงใช้หนอนเป็นสัญลักษณ์ของคนที่รักการอ่านทั้งๆ ที่หนอนมันมองไม่เห็น ตอนนี้ผมได้คำตอบแล้ว
การอ่าน หนังสืออาจไม่ใช่แค่เรื่องของตา ไม่ต้องมองเห็นเราก็อ่านหนังสือได้ หนอนที่ไม่มีตาก็รักการอ่านได้
- Log in to post comments
ไม่ทราบว่
ไม่ทราบว่าข้อความมาครบหรือเปล่าคะ เพราะตอน preview มันก็แสดงครบนี่นา แต่พอกด "ยืนยัน" ทำไมอ่านโดยโปรแกรมอ่านจอภาพแล้วข้อความมันมาไม่ครบ ไม่ทราบว่าคนตาดีเห็นเต็มบทความมั๊ยคะ บทความจะต้องจบที่ "ที่มา: (ตามด้วยลิงค์ที่ได้บทความนี้มาน่ะค่ะ)
"The mind is everything. What you think you become." by Buddha
ไม่รู้เหม
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมขาดไปได้ ผมตามไปเอามาใส่ให้ใหม่จากบล็อกของปอมแล้ว น่าสนใจมากครับ
คำว่า หนอนหนังสือ ไม่ได้เกิดจากว่าหนอนชอบอ่าน แต่เกิดจากการที่เวลาคนสมัยก่อนเก็บหนังสือ จะมีหนอนมาไชหนังสือ กินกระดาษ คืออาศัยอยู่กับหนังสือตลอดเวลา เป็นที่อยู่ที่กิน ความจริงคนรักหนังสือไม่ชอบมันหรอก เพราะมันทำลายของรักของหวง แต่ก็ใช้มันเป็นคำเปรียบเทียบคนที่ชอบอ่านหนังสือมากถึงขนาดขาดหนังสือไม่ได้
คนเขียนบทความคงยังอ่านไม่มากพอ เลยไม่รู้ความหมาย เรียกว่าเป็นหนอนฝึกหัด
เคยเห็นหนังสือไทยรุ่นเมื่อสัก 70-80 ปีก่อน เรียก bookworm ว่า ตัวหนอนที่อยู่ในสมุด
ขอบคุณคุณ
ขอบคุณคุณวิษณุที่กรุณาช่วยไปเอาบทความมาแปะให้จนครบค่ะ :)
ความรู้ใหม่เลยนะนี่เรื่อง "หนอนในหนังสือ" แอบน่าสยองจังค่ะ ถ้าต้องเปิดหนังสือแล้วเจอหนอนอยู่ในนั้น!
"The mind is everything. What you think you become." by Buddha