สงสัยหลายข้อมากเลยค่ะ

คุณดีเจแอ๊ดถามมาว่า

1. การอ่านในวงเล็บ ต้องอ่านคำย่อก่อน แล้วต่อด้วย มาจาก ใช่หรือไม่

2. (ม. คำหลวง กุมาร) และ (ม. คำหลวง ทานกัณฑ์) จะอ่านอย่างไร หา กุมาร เจอแต่กุมารคำฉันท์ แต่หา ทานกัณฑ์ ไม่พบ

3. ในวงเล็บวิวาห์พระสมุทร หา ให้อ่านว่าเต็ม ๆ ไม่พบ

ตอบด่วนนะคะเพราะกำลังร่างเพื่อเตรียมอ่านอยู่ค่ะ

ขอบคุณคุณแอ๊ดมากครับสำหรับความเอาใจใส่ ผมขอเสนอดังนี้ครับ

1. การอ่านในวงเล็บ ไม่ต้องอ่านคำย่อก่อนครับ เช่น "ตาลุ (แบบ) น. เพดานปาก (ป., ส)" อ่านว่า "ตาลุ สะกดดังนี้ ตอเต่า สระอา ลอลิง สระอุ ในวงเล็บ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป เป็นคำนาม เพดานปาก ในวงเล็บ มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต"

2. (ม. คำหลวง กุมาร) อ่านว่า "ในวงเล็บ จากหนังสือ มหาชาติคำหลวง กัณฑ์กุมาร"
(ม. คำหลวง ทานกัณฑ์) อ่านว่า "ในวงเล็บ จากหนังสือ มหาชาติคำหลวง ทานกัณฑ์"

** ผู้ทำพจนานุกรมไม่ได้แจกแจงเรื่องกัณฑ์ต่างๆ ในเทศน์มหาชาติ คงเพราะคิดว่าผู้อ่านรู้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันไม่จริง

3. (วิวาห์พระสมุทร) อ่านว่า "ในวงเล็บ จากหนังสือ วิวาห์พระสมุทร"

ชื่อนี้เป็นชื่อเต็ม เลยไม่อยู่ในรายการย่อครับ หรือถ้าจะขยายความเองก็ได้ เป็น "ในวงเล็บ จากบทละครพระราชนิพนธ์ วิวาห์พระสมุทร ในรัชกาลที่ 6"